การบริหารจัดการน้ำ

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ชาวไร่ / ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม / ชุมชน  

 

ทรัพยากรน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกันอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำของโลกในรูปแบบที่ซับซ้อน ตั้งแต่รูปแบบปริมาณน้ำฝนที่คาดเดาไม่ได้ ไปจนถึงแผ่นน้ำแข็งที่หดตัว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตของประชากร และการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มขึ้นจะสร้างแรงกดดันต่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)  เนื่องจากน้ำจืดส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 จะถูกใช้เพื่อการเกษตร การที่ฝนตกในปริมาณน้อยหรือมากเกินไปในเวลาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการย่อยสลาย และการชะล้างของดิน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตร   

 

กลุ่มมิตรผลในบทบาทผู้นำในอุตสาหกรรมเกษตรจึงให้ความสำคัญกับเรื่องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ในพื้นที่เพาะปลูกแหล่งวัตถุดิบต้นทางจนถึงกระบวนการผลิตและตลอดห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มมิตรผล โดยการบริหารจัดการน้ำที่ดีจะช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และสามารถรักษาระบบนิเวศที่ดีให้คงอยู่ได้ต่อไป

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานและมีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการผลิต อีกทั้งยังคำนึงถึงการใช้น้ำร่วมกันของชุมชนในพื้นที่ โดยมีแนวทางการบริหารจัดการที่สำคัญ ดังนี้         

 

1. จัดตั้งคณะทำงานการจัดการน้ำ เพื่อประสานกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานปกครอง และตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ร่วมกันระดมความคิด วางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมทั่วทั้งภายในและนอกองค์กร

 

2. พัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตร เช่น การขุดบ่อขุดสระ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ (Oasis Project) และระบบส่งน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

 

3. บริหารจัดการน้ำทิ้ง ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำทิ้งมาใช้ เพื่อสามารถนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ได้ ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ นอกจากนั้นยังมีการควบคุมค่าความสกปรกของน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดให้ดีขึ้น และทำให้มีน้ำที่มีคุณภาพ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ กำหนดกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

เพื่อให้เกิดการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจทั้ง การจัดการวัตถุดิบ การผลิตน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่ปฏิบัติงาน และตลอดห่วงโซ่คุณค่า ดังนี้    

 

 

การบริหารน้ำในพื้นที่โรงงาน (Mitr Phol’s Factories) 

 

บริษัทให้ความสำคัญต่อการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าโดยยึดหลัก 4Rs : Resource, Reduce, Reuse, Recycle  ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง บริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการผลิต โดยลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต หมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงสร้างความร่วมมือตลอดโซ่อุปทาน 

 

 

คลิกเพื่อดูรายละเอียดหลัก 4Rs : Resource Reduce Reuse Recycle 

 

 

1. ปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกลุ่มมิตรผล

 

  ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 เป้าหมายปี 2565
ปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำ (ล้านลิตร/ ล้านบาท) 0.3592 0.3629 0.4213 0.2843  5% จากปี 2564

 

หมายเหตุ: ปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำ ปี 2563 - 2565 รวมแหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา และ produced water สำหรับข้อมูลปี 2562 รวมปริมาณน้ำผิวดิน น้ำบาดาล และน้ำประปา

 

 

2. การบริหารจัดการน้ำดิบ-น้ำใช้

 

บริษัทให้ความสำคัญต่อการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าโดยยึดหลัก 4Rs : Resource Reduce Reuse Recycle และวางแผนบริหารจัดการปริมาณน้ำดิบเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการผลิต โดยตลอดปี 2565 ได้มีการสำรวจเส้นทางระบายน้ำฝนภายพื้นที่โรงงาน จัดทำแผนที่เส้นทางการไหลของน้ำ ขุดลอกเส้นทางน้ำ เพื่อรวบรวมและกักเก็บน้ำฝน น้ำหลาก เข้าสู่บ่อน้ำดิบ

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการตั้งเป้าการใช้น้ำดิบของแต่ละแผนก มีการควบคุมและติดตามปริมาณและคุณภาพน้ำทิ้งของแต่ละแผนก โดยการควบคุมค่า Sugar content เพื่อควบคุมการสูญเสียที่ไม่สามารถระบุได้ (Undetermined Loss) และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการ กำหนดจุดติดตามตรวจวัด ประชุมรายงานผลการตรวจวัด รวมถึงติดตามปัญหา-การแก้ไข

 

  

 

 

3. การบริหารจัดการน้ำเสีย

 

บริษัทฯ ได้มีการวางแผนพัฒนาการบริหารจัดการน้ำเสีย โดยเริ่มจากการจัดตั้งบริษัท พัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานไทย จำกัด ที่มีความชำนาญด้านบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่การออกแบบ การควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงคุณน้ำทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และในปี 2565 ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่งเป็นระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge : AS)  ณ อุทยานมิตรผลด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจทั้งอุทยานฯ อันประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และโรงงานเอทานอล  ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้

 

  • มีแหล่งสำรองบ่อน้ำดิบเพิ่มขึ้น รวม 3 ล้าน ลบ.ม.
  • สามารถรองรับการบำบัดน้ำเสียได้เฉลี่ย 6,000 ลบ.ม./วัน
  • มีน้ำที่สามารถวนกลับมาใช้ใหม่ได้ 3,000 ลบ.ม./วัน 
  • ลดการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 1 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือประมาณร้อยละ 20
  • ยกระดับมาตรฐานการจัดการน้ำ โดยมีการดำเนินการด้วยนิติบุคคลและมีการบริหารจัดการอย่างชัดเจน และสามารถตรวจติดตามได้

 

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างระบบบำบัดแบบตะกอนเร่งจะขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ปฎิบัติงานอื่นๆของกลุ่มมิตรผล ทั้งอุทยานมิตรผลภูเขียว และอุทยานมิตรผลกาฬสินธุ์ในลำดับถัดไป

 

นอกจากนี้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่งจะนำส่งไปยังโครงการ  Oasis  ในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรอีกด้วย

 

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง ในพื้นที่อุทยานด่านช้าง

 

 

การบริหารจัดการน้ำในไร่

         

สำหรับชาวไร่ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา เราได้ดำเนินโครงการชลประทานสำหรับเกษตรกร เช่น ส่งเสริมการเจาะบ่อบาดาล สร้างบ่อ ส่งเสริมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำโซล่าเซลล์ ส่งเสริมการติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติ และยังจัดให้มีหน่วยงานชลประทาน เพื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำใต้ดิน ประสานงานขอสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ จัดหาพื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมีแหล่งน้ำ และส่งเสริมให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพแก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวไร่อ้อยถึงความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ในปี 2565/66 มีพื้นที่ชลประทาน สะสม  997,900 ไร่ โดยมีประเภทของชลประทาน ดังนี้

 

1. สร้างแหล่งน้ำ

 
  • บ่อบาดาล                                  361,400 ไร่ (สะสม 36,898 บ่อ)

 

  • แหล่งน้ำธรรมชาติ                        358,800 ไร่
 
  • โครงการชลประทานขนาดใหญ่       130,800 ไร่ (สะสม 172 โครงการ)
 
  • สระเก็บน้ำ                                  141,900 ไร่ (สะสม  18,401 สระ)
 
  • โครงการ Oasis                            5,000 ไร่
 

 

เป็นโครงการต้นแบบที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้สามารถกักเก็บน้ำ และสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำไร่อ้อย แหล่งขยายพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ ได้ศึกษา เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

 

         โครงการ Oasis บ้านหนองไผ่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

                         พื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่

โครงการ Oasis บ้านถนนกลาง อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ

          พื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่

 

 

2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ   

 
  • โซล่าเซลล์                                59,260 ไร่ (5,926 ชุด)

 

  • ระบบน้ำหยด                              32,853 ไร่
 

 

   

       ส่งเสริมการเจาะบ่อบาดาลน้ำลึก

      ส่งเสริมปลูกอ้อยใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เช่น ลำน้ำยัง จ.กาฬสินธุ์

 

         โครงการชลประทานขนาดใหญ่: ประตูระบายน้ำน้ำเชิญ         

                   บ้านกุดแคน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

          สระพักน้ำ                                     

 

                   ระบบน้ำหยดและระบบให้ปุ๋ยทางน้ำ      

                            ชุดโซล่าเซลล์ ขนาด 3 แผง 1,800 วัตต์                               

 

 

การบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก

 

1. โครงการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก

 

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีนโยบายและหลักเกณฑ์ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยร่วมมือ กับองค์กรท้องถิ่นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้  ได้แก่ โครงการฝายชะลอน้ำ บาดาลน้ำลึก สถานีสูบน้ำโซล่าเซลล์ และโซล่าเซลล์แบบเคลื่อนย้าย โดยมิตรผลได้ดำเนินการขอรับการส่งเสริมดังนี้

 

  • ปี 2565 ก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 90 โครงการ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 5,457  ไร่ 
  • มีแผนก่อสร้างปี 2566 จำนวน 262 โครงการ สนับสนุนพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 10,050  ไร่ 

 

                     โซล่าเซลล์แบบเคลื่อนย้าย                  

                         สถานีสูบน้ำโซล่าเซลล์                              

 

 

2. โครงการชลประทานร่วมกับภาครัฐ

 

เป็นการขอสนับสนุนโครงการชลประทานจากภาครัฐ (ด้านน้ำ) ปีละไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกระทรวงพลังงาน โดยทางโรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรวบรวมความต้องการจากเกษตรกรในพื้นที่ จัดประชุม ตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และเขียนขอโครงการ ผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด และนำเข้าแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานขอประเทศต่อไป ซึ่งมีโครงการขอสนับสนุนดังต่อไปนี้

 

  • กรมชลประทาน 11 โครงการ พื้นที่ 19,500 ไร่
  • กรมพัฒนาที่ดิน 200 โครงการ พื้นที่ 1,000 ไร่
  • กรมทรัพยากรน้ำ 6 โครงการ พื้นที่ 3,000 ไร่
  • กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 100 โครงการ พื้นที่ 6,000 ไร่
  • กระทรวงพลังงาน 100 โครงการ พื้นที่ 1,000 ไร่