การกำกับดูแลกิจการและการบริหารความเสี่ยง 

 

 

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก: ผู้ถือหุ้น / เกษตรกร / ชุมชน / คู่ค้า / พนักงาน

 

กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) และได้มีการปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของบริษัท โดยกลุ่มมิตรผลได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการกำกับกิจการที่ดี สร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจ เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน โดยผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วนผ่านช่องทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท สามารถต่อยอด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น รวมทั้งเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของกลุ่มมิตรผลได้อีกด้วย นอกจากนี้การบริหาร การติดตาม และประเมินความเสี่ยง หรือภัยคุกคามภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะช่วยสร้างมูลค่าและผลประโยชน์ร่วมขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

 

 

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

 

แนวทางการบริหารจัดการ3-3

 

กลุ่มมิตรผลได้มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาล โดยมีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ต้องรับทราบ ร่วมยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า มีการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี" 

 

 

โครงการบริหารองค์กรของกลุ่มมิตรผล

 

กลุ่มมิตรผลมีคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีหน้าที่อย่างชัดเจน โดย คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 ท่าน มีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ นโยบาย แนวปฏิบัติและระบบควบคุมภายใน รวมถึงการกำกับ ติดตาม และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่งกลุ่มมิตรผล จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของกิจการ ตลอดจนพิจารณาอนุมัติประเด็นสำคัญ และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและแผนการดำเนินการต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

 

 

 
     สามารถคลิกเพื่อดูผังโครงสร้างองค์กร กลุ่มมิตรผล

 

 

การสรรหาคณะกรรมการบริษัท

 

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทคณะกรรมการบริษัทของกลุ่มมิตรผล ในการดูแลกิจการของกลุ่มมิตรผล และการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้หลักพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 5 คน และไม่เกิน 12 คน โดยในปีนี้ คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการทั้งสิ้น 11 ท่าน เป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 7 ท่าน กรรมการอิสระจำนวน 1 ท่าน และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 3 ท่าน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) โดยได้พิจารณาสรรหากรรมการบริษัทจากบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ และความหลากหลายทางวิชาชีพที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบกิจการ การกำหนดกลยุทธ์ สามารถช่วยพัฒนาบริษัทฯ ผลักดันองค์กรไปสู่การเติบโตตามกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากที่สุด ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ อีกทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระ ในกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือ ผู้มีส่วนได้เสียด้วย

 

สำหรับกรรมการอิสระนั้น ได้พิจารณาตามนิยามกรรมการอิสระที่บริษัทฯ กำหนดซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญที่อาจมีผลทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ หรือให้ความเห็นได้อย่างอิสระด้วยแล้ว ในแต่ละปีกรรมการบริษัทต้องหมุนเวียนออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ (ตามข้อบังคับของบริษัท) จำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละท่านสามารถดำรงตำแหน่งได้นั้น ต้องมีจำนวนไม่เกิน 4 บริษัท และมีการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละครั้ง เลขานุการบริษัท จะจัดส่งหนังสือเชิญประชุม ซึ่งระบุวาระการประชุมทั้งหมดให้คณะกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งจะมีการจดบันทึกการประชุมที่มีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการจัดเก็บรักษารายงานการประชุม ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างครบถ้วนพร้อมให้คณะกรรมการบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ โดยในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 98.48% ของการประชุมทั้งหมด

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

การดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผลยึดถือตามหลักการกำกับดูแลกิจการเป็นพื้นฐาน โดยในปี 2565 เรายังคงมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

 

1. กระบวนการพัฒนาทักษะความรู้ และประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของหน่วยงานกำกับดูแลสูงสุด

 

เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาทักษะความรู้ และประสบการณ์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทฯ จึงได้สนับสนุนให้คณะกรรมการฯ เข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ต่างๆ ในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคณะกรรมการบริษัทฯ ที่จะนำไปพัฒนาองค์กรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ได้เข้าร่วมการอบรมในหลากหลายหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยหลักสูตร (IOD) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการ และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย อาทิ  หลักสูตร Director Certification Program (DCP) ที่ทำให้กรรมการบริษัท เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กร เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่นำไปสู่การมีผลประกอบการที่ดี และประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรด้านการเงิน และมีการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลให้องค์กรดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย รวมทั้งพัฒนากลยุทธ์องค์กรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริง เช่น หลักสูตร Subsidiary Governance Program (SPG) เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลบริษัทในกลุ่ม บทบาทหน้าที่ของกรรมการที่ดำรงตำแหน่งในบริษัทย่อย และแนวทางการป้องกันความรับผิดของบริษัทย่อยที่อาจมีผลกระทบต่อบริษัทแม่ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมการอบรมในอีกหลายหลายหลักสูตรที่สำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพ และ องค์ความรู้ต่างๆ ได้แก่ Directors Accreditation Program (DAP), Financial Statements for Directors (FSD), Board that Make a Difference (BMD), Successful Formulation & Execution of Strategy (SFE), Role Of The Compensation Committee (RCC), Director Leadership Certification Program (DLCP) ซึ่งบริษัทฯ ได้สนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทฯ เข้าร่วมการอบรม เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ในหลากหลายมิติ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการบริษัทฯ ให้อยู่บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายขององค์กรด้วย

 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการส่งเสริม สนับสนุนความรู้ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้เท่าทันกับบริบทของสากลที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หลักสูตร Risk Management Program for Corporate Leaders (RCL) เพื่อเข้าใจถึงกรอบโครงสร้างของการบริหารความเสี่ยงที่ดีและสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรได้ รวมทั้งวิธีในการกำกับดูแล ความเสี่ยงแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม

 

 

2. การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท

 

บริษัทฯ กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ทั้งคณะและรายบุคคล รวมถึงคณะกรรมการชุดย่อย เป็นประจำทุกปี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี ช่วยวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน และเพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม โดยในปี 2565 ได้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ คณะกรรมการชุดย่อย สรุปได้ ดังนี้

 

ผลการประเมินการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ปี 2565

 

 

ผลการประเมินการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการชุดย่อย ปี 2565

 

 

3. นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณมิตรผล

 

กลุ่มมิตรผลได้กำหนดให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน เป็นต้น เพื่อสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้รับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการกำกับดูแลขององค์กรได้อย่างชัดเจนและมีความสอดคล้องกัน อีกทั้งยังได้จัดทำจริยธรรมทางธุรกิจ หรือเรียกว่า “จรรยาบรรณมิตรผล” เพื่อให้บุคลากรมิตรผล ได้แก่ กรรมการบริษัท ที่ปรึกษาบริหาร ผู้บริหาร และพนักงาน ได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงาน

 

ในขณะเดียวกันเพื่อให้คู่ค้าของบริษัทได้มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้มี “จรรยาบรรณของคู่ค้ามิตรผล” โดยคู่ค้าทุกรายจะต้องมีการลงนามรับทราบแนวทางในการร่วมงานกัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยในปี 2565 ได้มีการปรับปรุงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายฮาลาล, แนวปฏิบัติในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

4. การสร้างการรับรู้และการสื่อสาร

 

เพื่อให้การดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรเป็นไปตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่กำหนดไว้ การสื่อสารนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องรวมถึงจรรยาบรรณมิตรผล เพื่อส่งเสริมการรับรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รวมถึงมีการเผยแพร่และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียภายนอกผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การจัดการอบรมภายในบริษัท ป้ายประชาสัมพันธ์ติดตั้งภายในสำนักงาน การประชาสัมพันธ์ผ่านอีเมล และการเผยแพร่ผ่านเวปไซต์ของบริษัท เป็นต้น

 

และเพื่อเป็นการย้ำเตือนและสร้างความตระหนักแก่บุคลากรมิตรผลอยู่เสมอ บุคคลากรทั้งหมด 100% จะต้องมีลงนามรับทราบและถือปฏิบัติจรรยาบรรณมิตรผลเป็นประจำทุกปี

 

โดยในปี 2565 การจัดสื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้แนวคิด “จรรณยาบรรณ เดอะซีรีส์” ได้มุ่งเน้นการสื่อสารถึงประเด็นด้านจรรยาบรรณที่เคยพบจากช่องทางการเรียน การสอบถามเข้ามาผ่านช่องทางอีเมลและการอบรม เพื่อตอกย้ำถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และยังได้มีการจัดอบรมหลักสูตร “วัฒนธรรมและจรรยาบรรณมิตรผล” และ “การควบคุมป้องกันการทุจริต” เป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ในเรื่องจรรยาบรรณมิตรผล  ระเบียบวินัยบริษัท โดยมีเป้าหมายการอบรมบุคลากรมิตรผลทุกคนให้ครบถ้วน 100% ภายในปี 2568 ซึ่ง ณ ปี 2565 เป็นการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ และมีบุคลากรมิตรผลเข้าร่วมหลักสูตรทั้งสิ้น คิดเป็น 73.27% ของบุคลากรมิตรผลทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20% ของบุคลากรทั้งหมด โดยครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ (ในประเทศไทย) นอกจากนี้การจัดหลักสูตรอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ยังสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการเดินทาง ได้ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

 

จำนวนของผู้ที่ได้รับการสื่อสาร รับทราบ และอบรมจรรยาบรรณ นโยบายและปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มมิตรผล

หมายเหตุ: *พนักงาน หมายถึง พนักงานประจำรายเดือน ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565

  

 

5. การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

 

ในปี 2565 การสื่อสารเรื่องนโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน รวมถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องยังคงถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบและความเข้าใจถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กร

 

กลุ่มมิตรผลยังคงเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในระดับประเทศต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวทั้งในสถานที่จัดงานจริงและเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในจุดยืนของกลุ่มมิตรผลที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของสังคมไทย นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นผ่านเว็ปไซต์บริษัท เพื่อเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและบุคคลทั่วไปได้รับทราบถึงกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย

 

กลุ่มมิตรผลเข้าร่วมงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย ประจำปี 2565

ภายใต้แนวคิด “คบเด็ก สร้างชาติ สร้างชาติไทยไร้คอร์รัปชัน” เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565

ณ สถานีกลางบางซื่อ และผ่านช่องทางออนไลน์

 

 

กลุ่มมิตรผลเข้าร่วมงาน วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ประจำปี 2565

ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง”

 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565

ผ่านช่องทางออนไลน์

 

6. กลไกรับเรื่องร้องเรียน

 

กลุ่มมิตรผลได้กำหนดให้มีแนวปฏิบัติการร้องเรียน และกลไกการรับข้อร้องเรียนผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ จะสามารถเข้าถึงช่องทางการร้องเรียนได้ ซึ่งได้ระบุถึงกระบวนการ ร้องเรียนไว้อย่างชัดเจนเพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทั้งภายในและภายนอกกลุ่มมิตรผลสามารถร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการกระทำที่ ไม่โปร่งใสหรือสงสัยว่าไม่โปร่งใส หรือการกระทำต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ขัดแย้งกับจรรยาบรรณมิตรผล ผ่านช่องทางการร้องเรียนที่กำหนด

 

อีกทั้งมีการสื่อสารแนวปฏิบัติและกลไกการร้องเรียนเรื่องระเบียบข้อบังคับบริษัทและจรรยาบรรณมิตรผลอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการอบรมและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ เช่น การประชาสัมพันธ์ด้วยป้าย Internal PR, Computer Screen อีกทั้งยังมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์วิธีการส่งเรื่อง ร้องเรียนผ่านช่องทางที่กำหนดในรูปแบบ Clip VDO เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเข้าใจในการใช้งานมากยิ่งขึ้น และเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคลากรมิตรผลและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสอดส่องดูแลองค์กรและคนในองค์กรให้เกิดการพัฒนาและมีความโปร่งใสสมดังเจตนาที่ตั้งไว้

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน

 

จำนวนข้อร้องเรียน Breaches / Corruption กลุ่มมิตรผล

 

หมายเหตุ: * การผิดจรรยาบรรณมิตรผลด้านอื่นๆ ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบริษัท

 

สำหรับข้อร้องเรียนที่บริษัทได้รับ บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการตามระเบียบของบริษัทอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคต โดยข้อร้องเรียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย และการเงินแต่อย่างใด

 

 

การบริหารความเสี่ยงองค์กร

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

การติดตามและประเมินความเสี่ยงหรือภัยคุกคามภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีการทบทวนการประเมินความเสี่ยง ให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องต่อกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร

 

และติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์สำคัญที่อาจเป็นความเสี่ยง โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยง เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประเมินความเสี่ยงในระดับองค์กร และทำหน้าที่ประสานงานกับแต่ละธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการทบทวน ประเมิน ติดตาม และรายงานความเสี่ยงที่สำคัญต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการบริษัท โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยง จะขึ้นตรงต่อด้าน Governance, Risk, and Compliance ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากธุรกิจหลักอย่างชัดเจน

 

ในปี 2565 กลุ่มมิตรผลมีการประเมินและบริหารจัดการปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ ดังนี้

 

 

การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

 

การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ภายหลังการเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ที่รุนแรง บริษัทได้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management System: BCMS) ซึ่งมิตรผลอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 22301:2012 เป็นกรอบดำเนินการทั้งในพื้นที่สำนักงานใหญ่และโรงงานหลัก 7 แห่ง เช่น การปรับปรุงกิจกรรมสำคัญ กระบวนการสื่อสาร ทรัพยากร เป็นต้น เพื่อให้มีความเป็นปัจจุบันและสนับสนุนให้องค์กรมีความพร้อมรับมือต่อภัยคุกคามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงมีการสื่อสารและทำความเข้าใจให้กับผู้บริหารและพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บุคลากรสามารถใช้องค์ความรู้ในการประเมินสถานการณ์และเชื่อมโยงการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้อย่างเหมาะสม

 

ในปี 2565 ได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจประจำปีร่วมกับแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉินทั้งในพื้นที่สำนักงานใหญ่และโรงงานหลัก 7 แห่ง ได้แก่การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเพลิงไฟประจำปี เพื่อทดสอบกระบวนการในการปฏิบัติและการสื่อสารในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีความต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการฝึกซ้อมรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่สำคัญ โดยฝึกซ้อมในรูปแบบ Table top โดยเน้นการสื่อสารและการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ตามสถานการณ์สมมติ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตามแผน มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง โดยการฝึกซ้อมมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการตอบสนองต่อภัยคุกคาม และกระบวนการสื่อสารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำองค์กรไปสู่ความพร้อมต่อการรับมือในสถานการณ์จริงได้

 

                       กิจกรรมการฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจในพื้นที่โรงงาน ประจำปี 2565