การบริหารจัดการความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน


 

การบริหารจัดการความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น / คู่ค้า / พนักงาน / ชุมชน / ชาวไร่    

 

การปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยเป็นรากฐานที่สำคัญขององค์กรช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน ลดอุบัติภัยร้ายแรง ลดข้อร้องเรียน ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ที่อาจส่งผลกระทบต่อพนักงาน ชาวไร่ ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า  พนักงาน และผู้รับเหมา ล้วนมีส่วนสร้างพื้นที่ปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การมีพื้นที่ปลอดภัยจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานเกิด Safety and Healthy workplace ส่งผลเรื่องขวัญกำลังใจในการทำงาน และส่งผลไปยังประสิทธิภาพการทำงานและการผลิตที่ดีขึ้น

 

อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ หรือนอกขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทได้ เช่น สารเคมีหกรั่วไหล  การแพร่กระจายของสารมลพิษ การหกหล่นจากการขนส่งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และผลพลอยได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในชุมชน รวมไปถึงส่งผลต่อชื่อเสียงขององค์กร   

 

กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ นับเป็นความท้าทายที่กลุ่มมิตรผลต้องเผชิญและกำหนดเป็นกลยุทธ์หนึ่ง หากจะบรรลุเป้าหมายจะต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงาน ชาวไร่ ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน นอกจากนั้นแล้วยังมีการตั้งเป้าหมายอัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (Lost Time Injury Frequency Rate: LTIFR)  สำหรับพนักงานและผู้รับเหมาให้น้อยกว่า  0.6 รายต่อ 1 ล้านชั่วโมงการทำงาน ภายในปี 2566 

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ 

 

บริษัทมุ่งมั่นในการบริหารจัดการความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยองค์กรได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีจากภายนอก ISO45001:2018 อีกทั้งได้กำหนดนโยบายด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Security, Safety, Occupational Health, and Environment: SSHE) โดยนำมาบูรณาการบริหารจัดการทั่วทั้งภายใน และภายนอกองค์กร นอกจากนั้นในปี 2565 ยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมภายในแต่ละโรงงาน เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดเป้าหมายแผนการดำเนินงานร่วมกันของแต่ละพื้นที่การดำเนินงานในกลุ่มมิตรผล ซึ่งทีมงานได้มีการสื่อสาร ถ่ายทอดไปยังผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

 

กลุ่มมิตรผลได้มีการจัดตั้งฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โดยมีทีมงานทั้งส่วนกลางและส่วนโรงงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การบริหารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีกระบวนการในการบ่งชี้ความเป็นอันตราย การประเมินความเสี่ยงและการสอบสวนอุบัติการณ์เพื่อระบุประเด็นประเมินความเสี่ยง (Risk) และโอกาส(Opportunity) ครอบคลุมกระบวนการปฏิบัติงาน กิจกรรม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ผลิตภัณฑ์ และบริการของหน่วยงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนกิจกรรมในการดำเนินการของผู้รับเหมาที่มีนัยสำคัญต่อหน่วยงาน พิจารณาครอบคลุมถึงสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ไม่ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงกำหนดแผนควบคุมและลดความเสี่ยงนั้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในทุกระดับ ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานและติดตามแผนงานดังกล่าวเป็นระยะ ซึ่งจะนำผลจากกระบวนการเหล่านี้ไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของกลุ่มมิตรผลต่อไป

 

ทั้งนี้เพื่อให้มีการบ่งชี้ความเป็นอันตรายและประเมินความเสี่ยงที่เป็นปัจจุบัน จึงต้องทบทวนและปรับปรุงอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กิจกรรม เครื่องจักรอุปกรณ์ บุคลากร ที่มีนัยสำคัญ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง (MP-QP-8002-017) หากพนักงานหรือผู้บังคับบัญชาพบว่า กิจกรรมหรืองานที่ได้รับมอบหมายได้ปฏิบัตินั้นมีความเสี่ยงหรืออาจก่อให้เกิดการประสบอันตราย การบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติงานและ/ หรือสั่งหยุดการกระทำนั้นได้ทันที และต้องแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทันทีเพื่อดำเนินการแก้ไข โดยอ้างอิงตามมาตรฐานบทบาทหน้าที่และกฎระเบียบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (MP-QP-8002-025) และกรณีที่มีการเกิดอุบัติการณ์ สภาพที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจะมีกระบวนการรายงาน ค้นหาสาเหตุ วิเคราะห์ แนวทางแก้ไขป้องกัน ติดตามผลการแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานการจัดการอุบัติการณ์ (MP-QP-8002-019) 

 

คลิกเพื่อดูรายละเอียดนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม 

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 

 

กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และอาชีวอนามัย และช่วยเพิ่มโอกาสในการใกล้ชิดกับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสร้างโอกาสในการดูแลสุขภาพให้กับพนักงาน เราได้มีการดำเนินโครงการด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้  

 

 

1. ผลอัตราการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน (Lost Time Injury Frequency Rate – LTIFR) 

 

 

 

2. การบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานทั้งหมด (Total recordable work-related injuries -TRIR)

 

   

 

3. สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และอาชีวอนามัย    

 

กลุ่มมิตรผลสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมด้าน SSHE ในองค์กร เพื่อมุ่งให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกิดความตระหนัก และลดพฤติกรรมไม่ปลอดภัยผ่านการดำเนินงานภายในแนวคิด 4Care ดังนี้  

 

 

 

3.1 ห่วงใยตนเอง : เน้นบทบาทหน้าที่ของพนักงาน 

 

  • มีสติ ประเมิน และควบคุมอันตรายก่อนเริ่มงานเตรียมรับสถานการณ์ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น 
  • ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อปฏิบัติในการทำงาน (Work instruction)   
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) ตามที่กำหนดไว้
  • ใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ถูกต้องและอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย 

 

 

3.2 ห่วงใยเพื่อนร่วมงาน : เน้นบทบาทหน้าที่ของพนักงาน 

 

  • เป็น Safety Buddy ซึ่งกันและกันกับเพื่อนร่วมงาน ที่คอยห่วงใยกัน เฝ้าระวังภัยซึ่งกันและกัน 
  • ทุกคนต้องเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ที่คอยตรวจสอบ ตรวจตรา เฝ้าระวัง และปรับปรุงแก้ไขพื้นที่ให้ปลอดภัย 

 

 

3.3 ห่วงใยสิ่งแวดล้อม : เน้นบทบาทหน้าที่ของพนักงาน 

 

  • ดูแล บำรุงรักษาพื้นที่ และควบคุมกิจกรรมไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม 
  • ช่วยกันประหยัด และลดการใช้พลังงาน 
  • ปฏิบัติตามข้อกำหนด และระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 

 

 

3.4 ห่วงใยชุมชน : บทบาทหน้าที่ของพนักงาน 

 

  • แจ้งเมื่อเห็นหรือได้รับข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน แก่โรงงาน รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ จากชุมชน 
  • ให้ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน 
  • ดูแลพัฒนาพื้นที่ในชุมชนที่พักอาศัย 

 

นอกจากนี้ ยังจัดฝึกอบรมให้ความรู้ความปลอดภัยกับพนักงานและผู้รับเหมาอย่างสม่ำเสมอ ตลอดทั้งนำสถานีการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาทักษะในการทำงานให้พนักงาน รู้จุดอันตราย และประเมินสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัยได้

 

 

4. จัดกิจกรรม SSHE Top Talk 

 

ในปี 2565 นี้ได้มีการจัดกิจกรรมให้ผู้บริหารแต่ละธุรกิจมาสื่อสารเป้าหมาย : Zero accident, Zero Environment Compliant และ Zero fire incident ให้กับพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความตระหนักด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 

 

 

 

5. กิจกรรมการดูแลสุขภาพ 

 

กลุ่มมิตรผลสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 

 

5.1 การขับเคลื่อนสุขภาวะคนทำงานในสถานประกอบการอย่างมีส่วนร่วม (Healthy Living) 

 

  • กิจกรรมบรรยายให้ความรู้ด้านสุขภาพ เช่น เรื่อง "รู้ทันก่อนไขมันอุดตัน" 
  • กิจกรรม Fit to Firm เพื่อส่งเสริมสุขภาพพนักงานที่มีค่า Low-density Lipoprotein (LDL) เกินมาตรฐานกำหนด ให้ออกกำลังกายเพื่อให้ค่า LDL ลดลง  

 

 

5.2 กิจกรรม Healthy Life Happy Life Campaign 

 

กิจกรรม Healthy Life Happy Life Capaign ให้กับพนักงาน ผ่าน Campaign เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเพื่อนพนักงานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการพัฒนาความรู้ โดยมีกิจกรรมให้พนักงานเข้าร่วมถึง 4 Challenges

 

 

                                                กิจกรรม Healthy Life Happy Life Campaign

 

 

5.3 สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข 

 

กลุ่มมิตรผล ได้มีการนำแนวทางของสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุขมาประยุกต์ใช้ ดังนี้ 

 

  • กำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยและ สิ่งแวดล้อม เช่น การป้องกันควบคุมโรคและการบาดเจ็บ อนามัยสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริหารขององค์กร พร้อมทั้งติดประกาศให้คนทำงานทุกคนรับทราบ  
  • จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างองค์กรกับบุคคลากรในการพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข  
  • ประเมินสถานการณ์หรือสำรวจความต้องการในประเด็นและกิจกรรมต่างๆ ของผู้ปฏิบัติงาน  
  • จัดลำดับความสำคัญของความต้องการจากผลการสำรวจ  
  • วางแผนหรือพัฒนาแผนการดำเนินการ  
  • ดำเนินการตามแผน เช่น จัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคและการบาดเจ็บ อนามัยสิ่งแวดล้อม ตามบริบทหรือขนาดของสถานประกอบการนั้นๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร  
  • ติดตาม ตรวจสอบหรือ ประเมินผลการดำเนินงาน เช่น ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและการบาดเจ็บ และอนามัยสิ่งแวดล้อมในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการ ตามแผนและมีการตรวจสอบผลลัพธ์  
  • ทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานหรือต่อยอด ขยายผล