การบริหารจัดการไร่

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ชาวไร่ / ชุมชน / พนักงาน / ลูกค้าและผู้บริโภค / คู่ค้า

 

กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจโดยส่งเสริมเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยรัศมี 50 กิโลเมตรรอบโรงงานปลูกอ้อย นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการวิจัยและทดลองในพื้นที่ไร่บริษัทของตนเอง เพื่อทดสอบพันธุ์อ้อย เครื่องจักรกลการเกษตร และเทคโนโลยีจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และทำการขยายผลแก่ชาวไร่อีกด้วย

 

เราตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการดินที่ดี เนื่องจากดินถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด เราจึงให้ความสำคัญเรื่องการดูแลปรับปรุงดิน โครงสร้างของดิน ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งล้วนเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต  ดังนั้นการจัดการดินที่ดี ในที่นี้หมายถึง การปรับปรุง บำรุงรักษาดิน ตามลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติพื้นฐานที่ดินควรมี เช่น ความชื้น แร่ธาตุอาหารในดิน อินทรียวัตถุในดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาทักษะการบริหารจัดการดิน และการจัดการศัตรูพืชของชาวไร่ เพื่อให้ได้ดินดีมีคุณภาพ ทำให้อ้อยเจริญเติบโต ให้ผลผลิตที่ดีคุ้มค่าการลงทุน หากขาดการจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำ อันเป็นวัตถุดิบหลักของกลุ่มมิตรผลและธุรกิจต่อยอด ต่อรายได้ สุขภาพชาวไร่ ผู้รับเหมา และสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการศัตรูพืช ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงเกษตรกรจะต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น แต่หากไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สารเคมีจะสะสมในร่างกายเกษตรกร สิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

 

ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรมีแนวปฏิบัติการจัดการดินที่ดี  และดูแลเรื่องการจัดการศัตรูพืช เช่น รณรงค์ให้ชาวไร่พักดิน โดยปลูกพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง และข้าวไร่ เป็นต้น เพราะพืชตระกูลถั่วจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินด้วยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมที่ปมรากถั่วใต้ดิน เมื่อดินมีไนโตรเจนที่ได้จากการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้ว ทำให้เราสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ การไม่อนุญาตและไม่ส่งเสริมให้มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชบางประเภท เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถช่วยบรรเทาและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

เรามีเป้าหมายในเรื่องการจัดการดินที่ดี การลดใช้สารเคมี และตั้งเป้าหมายการตัดอ้อยสด รวมถึงมีนโยบายการใช้สารกำจัดศัตรูพืช โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

เป้าหมายการจัดการดินที่ดี

 

  • มีนโยบายเรื่องการให้วงเงินงบประมาณส่งเสริมชาวไร่ ในการดูแลปรับปรุงคุณภาพดิน เช่น ส่งเสริมค่าปลูกพืชบำรุงดิน ค่าบรรทุกแก่ผู้รับเหมา เพื่อนำวีแนส (สารปรับปรุงดิน) และกากหม้อกรอง ให้ชาวไร่ที่แปลงอ้อย เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน โดยในปี 2565 มีนโยบายส่งเสริมที่ได้รับการอนุมัติกว่า 1,200 ล้านบาท
  • ให้คำแนะนำการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน และใส่ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งให้คำแนะนำโดยศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล
  • ส่งเสริมการดูแลดิน ด้วยการส่งเสริมการตัดอ้อยสด ไว้ใบอ้อยคลุมดิน ซึ่งใบอ้อยจะช่วยรักษาหน้าดิน รักษาความชื้น และย่อยสลายเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

 

เป้าหมายการตัดอ้อยสด และการรับซื้อใบอ้อย

 

กลุ่มมิตรผลมีเป้าหมายส่งเสริมการเพิ่มปริมาณอ้อยสดโดยมีเป้าหมายส่งเสริมอ้อยสดให้ได้ 95% ภายในปี 2568/69

 

นโยบายการใช้สารกำจัดศัตรูพืช

 

กลุ่มมิตรผลมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมชาวไร่ให้ลดการใช้สารเคมีในการทำไร่อ้อย หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ จะต้องเลือกใช้สารเคมีที่กฎหมายอนุญาตและใช้ในปริมาณที่เหมาะสมโดยไม่เกินมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน หรือ Bonsucro นอกจากนั้นแล้วกลุ่มมิตรผลยังมีนโยบายห้ามให้มีการสั่งซื้อหรือใช้สารกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส ลดการใช้สารพาราควอต และไม่อนุญาตให้ใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรและตามบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรรวม 108 ชนิด โดยมีการประกาศตั้งแต่ปี 2561

   

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

1. การจัดการในประเด็น Soil Health

 

  • แนวทางการดำเนินงานเรื่องสุขภาพของดินของกลุ่มมิตรผลนั้น เริ่มตั้งแต่การวางแผนการปรับปรุงดิน คือ ต้องให้ดินในแปลงปลูกได้พักผ่อนระยะหนึ่งหรือเรียกว่าการพักดิน เพื่อเว้นช่วงการปลูกพืชและบำรุงรักษาดินให้มีความพร้อมสำหรับการปลูกอ้อยครั้งต่อไป ซึ่งทางมิตรผลกำหนดวงเงินส่งเสริม เพื่อส่งเสริมค่าพืชบำรุงดิน ค่าบรรทุกรับเหมารถวีแนส (สารปรับปรุงดิน) และค่าบรรทุกกากหม้อกรอง แก่ชาวไร่คู่สัญญา ส่งเสริมนำวีแนสและกากหม้อกรองโดยจัดหาผู้รับเหมาบรรทุกนำไปส่งถึงแปลงอ้อยของชาวไร่ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • ส่งเสริมการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อลดการเหยียบย่ำดินของรถไถ รถตัดอ้อย ทำให้โครงสร้างดินเสีย
  • การส่งเสริมเรื่องนำเทคโนโลยีในการจัดการไร่ เช่น การใช้โดรนฉีดพ่นสารคุมวัชพืชหลังปลูกอ้อย ซึ่งทำให้ไม่ต้องนำรถแทรคเตอร์ติดเครื่อง Boomsprays เข้าไร่อ้อย
  • ส่งเสริมการเพิ่มปริมาณอ้อยสดโดยมีเป้าหมายส่งเสริมอ้อยสดให้ได้ 95% ภายในปี 2568/69 เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน และเก็บความชื้น โดยส่งเสริมการเตรียมพื้นที่ปลูกอ้อยรองรับการใช้รถตัดอ้อย การส่งเสริมชาวไร่ซื้อรถตัดอ้อย และเครื่องสางใบอ้อยกับกลุ่มชาวไร่ที่มีแปลงอ้อยขนาดเล็กที่ไม่สามารถนำรถตัดอ้อยลงพื้นที่ได้
  • ตัดอ้อยสด ไว้ใบอ้อยคลุมดิน ใบอ้อยจะช่วยรักษาหน้าดิน ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นในดินไว้ได้ เมื่อใบอ้อยย่อยสลายก็กลายเป็นปุ๋ย เพิ่มจุลินทรีย์ เพิ่มธาตุอาหาร ให้กับอ้อยรุ่นต่อไปได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วใบอ้อยส่วนที่เหลือ สามารถนำมาขายให้แก่โรงงานเพื่อทำเชื้อเพลิงเสริม และเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เพิ่ม โดยรับซื้อในราคา 1,000 บาท/ตัน
  • สุ่มเก็บดินเพื่อวิเคราะห์และแนะนำสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินโดย ศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล เพื่อลดปริมาณการใส่ธาตุอาหารเกินความจำเป็น และลดต้นทุนช่วยชาวไร่
  • ส่งเสริมใช้ปุ๋ยตามคุณภาพของดิน ไม่ใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลต่อค่าความเป็นกรดด่างของดิน ทำให้ดินเสียได้

 

  

2. โครงการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

 

กลุ่มมิตรผลนำแนวทางการจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักเกษตรสมัยใหม่ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนการทำไร่อ้อย ประกอบไปด้วย แนวทางดำเนินการโมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งมีหลักการดำเนินงานสี่เสาบวก (4 Pillars Plus) ได้แก่

 

  • เสา 1 พักดินปลูกถั่ว (Legume Rotation Crops)  การปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดินจะทำให้เกิดการสะสมโรคแมลงศัตรูอ้อย จึงควรพักดินและปลูกพืชชนิดอื่นโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากพืชตระกูลถั่วมีแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินให้กับอ้อยในอนาคตได้ จึงเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยวิธีธรรมชาติ ช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังเป็นการลดใช้สารเคมีและสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตอีกทางหนึ่งได้

 

  • เสา 2 ควบคุมแนวล้อวิ่ง (Controlled Traffic)  สร้างแนวเบดฟอร์ม (Bed Form) ด้วยเครื่องมือยกร่องปลูกอ้อย เพื่อให้เอื้อต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยกำหนดระยะห่างระหว่างร่อง และยกร่องให้มีลักษณะเป็นสันจากระดับการวิ่งของรถ จะทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกกิจกรรมสามารถวิ่งตามแนวร่องที่กำหนดไว้ และไม่เหยียบย่ำไปบนเบดฟอร์ม ช่วยลดการบดอัดของชั้นดิน และลดความเสียหายจากการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยืดอายุการไว้ตออ้อยได้อีกด้วย

 

  • เสา 3 ลดการไถพรวน (Minimum Tillage)  การทำไร่อ้อยแบบเดิมนั้น ชาวไร่ต้องไถพรวนดินทั้งแปลงก่อนปลูกอ้อยใหม่ แต่แนวทางใหม่ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เราจะไถพรวนเฉพาะเบดฟอร์มที่ยกขึ้นมาเท่านั้น จึงช่วยรักษาโครงสร้างดิน และลดพื้นที่เตรียมดินลงประมาณครึ่งหนึ่ง ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ลดเวลาในการเตรียมดินก่อนปลูกอ้อย และสามารถปลูกอ้อยใหม่ได้ทันกับความชื้นในดินที่ลดลง

 

  • เสา 4 ตัดอ้อยสดไว้ใบคุลมดิน (Trash Blanket)  การตัดอ้อยสดและไว้ใบอ้อยคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ และช่วยควบคุมวัชพืชไปในตัว จึงลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลงได้โดยปริยาย และยังช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากใบอ้อยจะสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับอ้อยรุ่นต่อไป นอกจากนี้การไม่เผาใบอ้อยยังเป็นการช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินเอาไว้ได้

 

  • น้ำ สูตรเติมเต็มสู่ความยั่งยืน (Irrigation) ตัวเสริมที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ การชลประทาน (Irrigation ) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การปลูกอ้อยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คลิกเพื่อดูรายละเอียด “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม”

 

กลุ่มมิตรผลมีการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย ปลูกอ้อยตามหลัก “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” ในทุกพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีการส่งเสริมแก่ชาวไร่กลุ่มที่มีรถตัดอ้อยของโรงงานเป็นต้นแบบในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่สะสมปี 2564/65 จำนวน 165,200 ไร่  (เพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 จำนวน 48,900 ไร่)

 

   

3. การดำเนินงานเรื่องการตัดอ้อยสด 

 

กลุ่มมิตรผลได้รณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนความรู้ในการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่เน้นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยให้เกษตรกรรายเล็กใช้เครื่องสางใบอ้อย และเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ใช้รถตัดอ้อย ลดการใช้แรงงาน ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนในการจัดการในไร่ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร ด้วยการขายใบอ้อยให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล และรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยบริษัทยังสร้างความร่วมมือกับภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมมาตรการในการลดการเผาอ้อย

 

  • ในปี 2564/65 มีสัดส่วนอ้อยสด 13.9 ล้านตัน (72%) ของอ้อยทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณอ้อยสดเพิ่มมากขึ้นจาก ปี 2563/64 กว่า 3.6 ล้านตัน
  • ในปี 2564/65 กลุ่มมิตรผลมีการรับซื้อใบอ้อยสำหรับทำเชื้อเพลิงชีวมวลปริมาณกว่า 5 แสนตัน เพื่อเพิ่มรายได้แก่ชาวไร่ ลดการเผาอ้อย รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

 

 

4. แนวทางการใช้สารกำจัดศัตรูพืช

 

กลุ่มมิตรผลมีแนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืช โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

  • วางแผนการปรับเวลาปลูกอ้อยให้เหมาะสม เพื่อเลี่ยงวัชพืช
  • ส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยมีหน่วยงานศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล ผลิต และส่งมอบเชื้อราเขียว แตนเบียนให้แก่ชาวไร่ในพื้นที่ รวมถึงมีนักวิจัย ติดตาม เฝ้าระวังในพื้นที่
  • ควบคุมการใช้สารจำกัดวัชพืชตามจำเป็น และอ้างอิงตามนโยบายรัฐฯ โดยมีประกาศควบคุมการสั่งซื้อเพื่อกำกับการใช้ของชาวไร่ในพื้นที่่
  • ส่งเสริมรถไถขนาดเล็ก 24 - 33 แรงม้า แก่ชาวไร่ ที่สามารถเข้าจัดการในไร่ เข้าร่องอ้อยได้ เพื่อจัดการวัชพืช โดยการเขตกรรม มากกว่าใช้สารเคมี  
  • มีการอนุมัติวงเงินส่งเสริมเครื่องมือเกษตร ได้แก่ รถแทรคเตอร์ และเครื่องปลูกอ้อยร่องคู่ เพื่อเพิ่มผลผลิต คิดเป็นเงินกว่า 153.62 ล้านบาท 

 

 

5. แนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในกลุ่มมิตรผล

 

กลุ่มมิตรผลมีแนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ทั้งในอ้อย และมันสำปะหลัง โดยเก็บตัวอย่างดิน วิเคราะห์ดิน แนะนำสูตรปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และจัดทำแผนที่การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ปลูกอ้อย 8 โรงงาน และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 1 โรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ (2,684 ตัวอย่าง) สำหรับแนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในกลุ่มมิตรผล ประกอบด้วย เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปฏิบัติในการใส่ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีคำแนะนำสูตรปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายโรงงานสำหรับการปลูกอ้อยปี 65/66 เป็นแนวทางสำหรับการส่งเสริมชาวไร่

 

   

6. การดำเนินงาน BONSUCRO มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน

 

Bonsucro เป็นมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน ที่ไม่ได้มองแค่กระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงกิจกรรมการทำไร่อ้อยในทุกขั้นตอนของชาวไร่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ได้มาตรฐานการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) บันทึกข้อมูลเป็นรายแปลง ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช น้ำมัน ไฟฟ้า น้ำ แรงงาน ผลผลิตอ้อย พื้นที่ตัดอ้อยสดมีการแบ่งพื้นที่ชลประทาน น้ำเสริม น้ำฝนอย่างชัดเจน ตลอดจนการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ จัดเก็บ คัดแยก และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือขายเพื่อทำรีไซเคิล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการผลิตอ้อยและน้ำตาลเป็นไปได้ตามมาตรฐาน

             

สำหรับการรับรองมาตรฐาน “Bonsucro” นี้จะต้องมีระบบและกระบวนการการผลิตอ้อยและน้ำตาลตามที่กำหนดซึ่งครอบคลุมหลักการสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

 

  1. หลักปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกระดับการผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย และปลูกอ้อยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง
  2. หลักเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงาน ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และต้องเตรียมน้ำดื่มสะอาดอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน
  3. หลักบริหารจัดการปัจจัยการผลิตให้มีประสิทธิภาพต้องมีการบริหารจัดการวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. หลักบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพต้องมีการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ต้องไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามทางการเกษตร และต้องไม่ใช้ปุ๋ยรวมถึงสารเคมีสูงเกินมาตรฐาน
  5. หลักปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่องอย่าง เช่น มีการฝึกอบรมพนักงานและคนงานในงานที่รับผิดชอบเพื่อพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง การปล่อยใบอ้อยให้คลุมดินหลังการเก็บเกี่ยวมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อ้อยตัดสด การจัดการขยะของเสียจากการทำไร่อ้อยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยรูปแบบการทำไร่สมัยใหม่ตามแนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่สอดคล้องกับมาตราฐาน ทำให้เรามั่นใจได้ว่าอ้อยทุกลำที่มาจากไร่ของเรา และชาวไร่จะเป็นอ้อยดีมีคุณภาพ เป็นอ้อยรักษ์โลกที่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้จริง

     

ในปี 2558 กลุ่มมิตรผลได้รับการรับรองมาตรฐาน BONSUCRO เป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายที่ 2 ของเอเชีย โดยในปี 64/65 นั้น มีพื้นที่โรงงานที่ได้รับการรับรอง Bonsucro (Bonsucro Certification) จำนวน 190,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตัน

  

  

7. โครงการ MITR PHOL MODERNFARM ACADEMY

 

ในปี 2565 Modern Farm Academy ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้กับชาวไร่ Smart Farmer 40 คน และพนักงานส่งเสริม และหน่วยงานสนับสนุนกลุ่มงานอ้อย จำนวน 99 คน ในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม การจัดการดิน การใช้ชีววิธีในการจัดการโรคและแมลงศัตรูอ้อย เพื่อสร้างความยั่งยืน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

 

  1. การปลูกพืชตระกูลบำรุงดิน เพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ตัดวงจรโรคและแมลง เพิ่มธาตุอาหารในแปลงอ้อยทำให้ดินมีสุขภาพที่ดีขึ้น
  2. การควบคุมการเหยียบย่ำในแปลง ลดการบดอัดหน้าดิน เพิ่มอายุการไว้ตอ และลดพื้นที่การใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในแปลงอ้อย ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อไร่ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
  3. การลดการไถพรวน ด้วยการใช้ริปเปอร์ระเบิดดินดาน เข้ามาแทนผาลพรวน เพื่อเก็บกักน้ำฝนในแปลง และลดการพลิกหน้าดินขึ้นมาด้านบน ลดการรบกวนดิน ไม่สูญเสียความชื้น และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
  4. การตัดอ้อยสด ลดการเผา ลดโลกร้อน
  5. การใช้ระบบน้ำหยดในแปลงอ้อย ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตในแปลงอ้อยต่อพื้นที่ และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นต้นกำลัง ทำให้ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอีกทางหนึ่ง
  6. การใช้ชีววิธีในการจัดการโรคและแมลง
  7. การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างถูกวิธีและให้มีประสิทธิภาพ   

 

                   การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร                                         การฝึกปฏิบัติกิจกรรมการให้น้ำในแปลง

 

                   การฝึกปฏิบัติกิจกรรมการปลูกอ้อย                                         การฝึกปฏิบัติการขับขี่เครื่องจักรกลการเกษตร