นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 

เพื่อให้กลุ่มมิตรผลสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของกลุ่มมิตรผล พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544  รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของกลุ่มมิตรผล ดังต่อไปนี้

 

 

1. วัตถุประสงค์

 

การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสารสนเทศที่ใช้งานภายในบริษัทเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการคำนึงถึง เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามได้ เช่น บุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถดำเนินการได้จากที่ใดก็ได้ ช่องโหว่จากการเชื่อมต่อระหว่างระบบสารสนเทศ ความสามารถในการปิดและแก้ไขช่องโหว่ของระบบสารสนเทศที่มีความซับซ้อน เป็นต้น โดยเหตุการณ์ภัยคุกคามดังกล่าวอาจกระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัทหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล อันประกอบด้วย พนักงาน ลูกค้า และกลุ่มบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องที่กลุ่มมิตรผลได้มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ได้

 

นโยบายฉบับนี้ ได้มีการกำหนดถึงการปกป้องทรัพย์สินสารสนเทศ การติดตาม และการกำกับดูแลหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการระบบสารสนเทศและการประมวลผลข้อมูลให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และครอบคลุมถึงหน่วยงานทางธุรกิจที่ได้ดำเนินการบริหารจัดการระบบสารสนเทศและประมวลผลข้อมูลเองโดยไม่ผ่านการควบคุมดูแลจากหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

 

 

2. คำจำกัดความ

 

ระบบสารสนเทศ (Information System) หมายถึง ระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสาร ระบบข้อมูลต่างๆ ที่มีการบันทึกประมวลผล เรียกดู หรือมีการโอนย้ายผ่านระบบดังกล่าว รวมถึง โปรแกรม ข้อกำหนดของระบบและกระบวนการต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาระบบ

 

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) หมายถึง มาตรการหรือการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท

 

ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Threat) หมายถึง การกระทำหรือการดำเนินการใดๆ โดยมิชอบ โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

การรักษาความลับ (Confidentiality) หมายถึง การรักษาหรือสงวนไว้เพื่อป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ จากการเข้าถึง การใช้ หรือเปิดเผย โดยบุคคลซึ่งไม่ได้รับอนุญาต

 

การรักษาความครบถ้วน (Integrity) หมายถึง การดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ขณะที่มีการใช้งาน ประมวลผล โอน หรือเก็บรักษา เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำให้สูญหาย ทำให้เสียหาย หรือถูกทำลาย โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยมิชอบ

 

การรักษาสภาพพร้อมใช้งาน (Availability) หมายถึง การจัดทำให้ทรัพย์สินสารสนเทศหรือเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถทำงาน เข้าถึง หรือใช้งานได้ในเวลาที่ต้องการ

 

มาตรฐาน (Standard) หมายถึง บรรทัดฐานที่บังคับใช้ในการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย

 

ระเบียบปฏิบัติ (Procedure) หมายถึง กระบวนการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานหรือตอบสนองในสถานการณ์ที่กำหนด เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการบริหารงาน และเป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ กระบวนการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องมีผลบังคับใช้เสมอจนกว่าจะมีการอนุมัติยกเว้นเป็นลายลักษณ์อักษร

 

กรอบการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หมายถึง กรอบที่ใช้ในการบริหารจัดการและการควบคุมด้านไซเบอร์ ซึ่งกำหนดขึ้นโดย National Institute of Standards and Technology (NIST) ซึ่งอ้างอิงเวอร์ชัน 1.1 (NIST Cybersecurity Framework v1.1)

 

กรอบการบริหารจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึง กรอบที่ใช้ในการบริหารจัดการและการควบคุมด้านข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกำหนดขึ้นโดย National Institute of Standards and Technology (NIST) ซึ่งอ้างอิงเวอร์ชัน 1.0 (NIST Privacy Framework v1.0)

 

มาตรการควบคุม (Control) หมายถึง วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งหมายรวมถึงนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน แนวทางปฏิบัติงาน วิธีการทำงาน หรือโครงสร้างบริษัท ทั้งที่อยู่ในเชิงการควบคุมดูแล เทคนิคการบริหารจัดการ หรือกฎหมาย

 

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) หมายถึง กระบวนการในการระบุระดับความรุนแรงและการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยเสี่ยงโดยประเมินจากโอกาสที่จะเกิดขึ้น (Likelihood) และผลกระทบ (Impact) ที่จะเกิดขึ้น

 

การพิสูจน์ตัวตน (Authentication) หมายถึง การประมวลผลโดยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจสอบและรับรองตัวตนของผู้ใช้ โดยตรวจสอบจากรหัสบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนการอนุญาตให้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในระบบ เช่น คีย์การ์ด (Key Card) รหัสผ่าน (Password) หรือการใช้พิน (PINs) ลายนิ้วมือ (Finger print) เป็นต้น

 

ความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) หมายถึง การควบคุมความปลอดภัยด้านกายภาพของการเข้าถึงข้อมูล ที่มีผลต่อความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานในระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพย์สินสารสนเทศที่มีค่าของบริษัท

 

การใช้บริการจากหน่วยงานภายนอก (External Party Services) หมายถึง บริการที่บริษัทใช้หรือได้รับจากผู้ให้บริการภายนอก เช่น การใช้บริการเก็บรักษาข้อมูล การใช้บริการประมวลผลข้อมูล การใช้บริการจากผู้จัดจำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ผู้ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและด้านความปลอดภัย รวมถึงประเภทของการใช้บริการอื่นที่ไม่ได้ให้บริการอยู่ภายในบริษัทด้วย เช่น การใช้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายงานที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก

 

ข้อมูลสารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลทั้งที่อยู่ในรูปแบบเอกสารและข้อเท็จจริงที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อมูลที่อยู่ในแบบฟอร์มบริษัท รวมถึงที่อยู่ในระบบสารสนเทศ ระบบเครือข่าย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสื่อในการจัดเก็บข้อมูลของบริษัท ไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในรูปแบบใดๆ เช่น ในรูปแบบของเอกสารที่จัดพิมพ์ เทปแม่เหล็กไมโครฟิช (Microfiche) ข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น

 

ผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) หมายถึง ผู้บริหารของหน่วยงานทางธุรกิจที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการสร้างข้อมูล ใช้ข้อมูล หรือให้ความเชื่อถือได้ของข้อมูล

 

ผู้ประมวลผลข้อมูล (Data Processor) หมายถึง ผู้บริหารของหน่วยงานทางธุรกิจที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการการประมวลผลข้อมูล โดยข้อมูลจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารจัดการโดยผู้ควบคุมข้อมูล

 

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) หมายถึง ตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ใช่เป็นผู้ที่ครอบครองข้อมูล หรือเป็นผู้สร้าง หรือเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นเอง โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะหมายถึงบุคคลธรรมดาเท่านั้น และไม่รวมถึงนิติบุคคล

 

ทรัพย์สินสารสนเทศ (Information Asset) หมายถึง สิ่งที่มีคุณค่าหรือมูลค่าต่อบริษัท โดยอาจเป็นทรัพย์สินสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลสารสนเทศที่บริษัทเป็นเจ้าของ เช่า ว่าจ้าง พัฒนา หรือจัดซื้อ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหรือการปฏิบัติงานของบริษัท ซึ่งทรัพย์สินสารสนเทศมีได้หลายประเภท ดังนี้

  • ทรัพย์สินสารสนเทศที่มีตัวตน (Tangible Information Asset) เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร สื่อบันทึกข้อมูล และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลสารสนเทศ เป็นต้น
  • ทรัพย์สินสารสนเทศที่ไม่มีตัวตน (Intangible Information Asset)
    • สารสนเทศ (Information) เช่น ฐานข้อมูลและไฟล์ข้อมูล สัญญาและข้อตกลงต่างๆ เอกสาร คู่มือระบบงาน ข้อมูลวิจัย ไฟล์คู่มือผู้ใช้งาน ไฟล์เอกสารการฝึกอบรม ขั้นตอนการปฏิบัติงาน แผนรองรับความต่อเนื่อง ทางธุรกิจ (BCP Plan) ข้อตกลงในการถอยกลับ (Fallback Arrangement) เอกสารหรือเร็คคอร์ดเพื่อการตรวจสอบ (Audit Trail) ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บถาวร เป็นต้น
    • ซอฟต์แวร์ (Software Asset) เช่น ซอฟต์แวร์ระบบงาน (Application Software) ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (Operating System) เครื่องมือในการพัฒนาระบบงาน (Software Development Tools) เป็นต้น

 

การเข้ารหัส (Encryption) หมายถึง การนำข้อมูลมาเข้ารหัสลับเพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาใช้ข้อมูล ผู้ที่สามารถเปิดไฟล์ข้อมูลที่เข้ารหัสลับไว้จะต้องมีโปรแกรมถอดรหัสลับเพื่อให้ข้อมูลกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

 

การปฏิบัติงานภายนอกสำนักงาน (Remote Working) หมายถึง การเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายของบริษัทจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายภายนอกบริษัท

 

ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยสารสนเทศ (Vulnerability) หมายถึง จุดอ่อนด้านความปลอดภัยสารสนเทศที่ภัยคุกคามสามารถใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบสารสนเทศ ข้อมูล และข้อมูลส่วนบุคคล หรือการดำเนินธุรกิจของบริษัท

 

 

3. บทบาทความรับผิดชอบ

 

3.1 คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้กำหนดทิศทางและสนับสนุนการนำนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไปปฏิบัติในกลุ่มมิตรผล ผ่านทางคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

 

3.2 คณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงและความเพียงพอของมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยประสานงานกับคณะกรรมการความเสี่ยงและรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบเป็นระยะ

 

3.3 ฝ่ายจัดการ

 

3.3.1 หน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  เป็นผู้นำนโยบายไปปฎิบัติ ชี้แจงและสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ติดตามความเสี่ยงและความเพียงพอของมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้สอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

3.3.2 หน่วยงานอื่นๆ  เป็นผู้ควบคุมดูแลให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติ ชี้แจงและสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และติดตามการนำไปปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์และหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 

 

3.4 พนักงานทุกคน ให้ปฏิบัติตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงแนวปฎิบัติและขั้นตอนปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับการอนุมัติอย่างเคร่งครัด

 

 

4. หลักสำคัญในการปฏิบัติ

 

4.1 การกำกับดูแลและการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการกำกับดูแลและบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุมทั้งบริษัทและเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

4.2 กรอบการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการกำหนดแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการด้านความมั่นงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล โดยยึดตามหลักมาตรฐานสากลขององค์กร National Institute of Standards and Technology (NIST) ซึ่งประกอบด้วย กรอบการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (NIST Cybersecurity Framework) และกรอบการบริหารจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคล (NIST Privacy Framework)

 

4.3 การบริหารความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงมีการจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ตลอดจนมีการติดตามและรายงานความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยสอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรและมาตรฐานสากล

 

4.4 การบริหารจัดการทรัพย์สินด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดทำทะเบียนรายการทรัพย์สินด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างครบถ้วน และควบคุมดูแลทรัพย์สินด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความพร้อมใช้งานและสามารถรองรับการให้บริการหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมถึงการควบคุมให้เกิดการใช้งานทรัพย์สินด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม และถูกต้องตามลิขสิทธิ์

 

4.5 การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการสื่อสารไปยังผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง และบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ให้กับบริษัทรับทราบและเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวมถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

 

4.6 การบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านกายภาพและสภาพแวดล้อม บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความพร้อมใช้งานของศูนย์คอมพิวเตอร์และพื้นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเพียงพอ และสามารถรองรับความต้องการของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

4.7 การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลทั้งในรูปแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมถึงการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายสื่อสาร การจัดเก็บ การใช้ข้อมูลบนระบบงาน สื่อบันทึกข้อมูลต่างๆ การเก็บรักษา และการทำลายข้อมูล

 

4.8 การบริหารจัดการการเข้าถึง บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการควบคุมการเข้าถึงระบบปฏิบัติการ ระบบเครือข่าย ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้มีการบริหารจัดการสิทธิและตรวจสอบยืนยันตัวตนตามสิทธิที่กำหนดไว้ตามความจำเป็นในการใช้งานและระดับความเสี่ยง เพื่อป้องกันการเข้าถึงและเปลี่ยนแปลงระบบหรือข้อมูลโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต ตามหลักความจำเป็นของการใช้งาน (Least Privilege) และสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี (Segregation of Duties)

 

4.9 การจัดหา การพัฒนา และการบำรุงรักษาระบบ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่า มีการจัดหา การพัฒนา และการบำรุงรักษาระบบ มีการควบคุมการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุมและสอดคล้องตามหลักการควบคุมที่เป็นมาตรฐานสากล

 

4.10 การตรวจสอบช่องโหว่และการทดสอบเจาะระบบ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่า มีการดำเนินการเพื่อให้ได้รับทราบถึงช่องโหว่ด้านการรักษาความปลอดภัยของระบบ และสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์

 

4.11 การเฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการเพื่อให้สามารถตรวจจับ ป้องกัน และรับมือเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างทันท่วงที โดยมีกระบวนการติดตามดูแลความมั่นคงปลอดภัยของระบบ รวมถึงเฝ้าระวังภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง

 

4.12 การบริหารจัดการเหตุการณ์ผิดปกติด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการเหตุการณ์ผิดปกติจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ผิดปกติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมทันการณ์ เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้กลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็วและจำกัดความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

 

4.13 การบริหารจัดการผู้ให้บริการภายนอก บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการใช้บริการ การเชื่อมต่อ หรือการเข้าถึงข้อมูลจากบุคคลภายนอก ให้มีความเสี่ยงในระดับที่บริษัทยอมรับได้

 

4.14 การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการรองรับเหตุการณ์ผิดปกติที่ทำให้ระบบเกิดหยุดชะงักหรือเกิดความเสียหาย โดยที่ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกู้คืนระบบให้กลับคืนสู่สภาพปกติภายในระยะเวลาที่ยอมรับได้

 

4.15 กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง บริษัทมีมาตรการหรือวิธีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการ เพื่อป้องกันการละเมิดข้อผูกพันในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือสัญญาจ้าง ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้บังคับอยู่แล้วในขณะนี้และที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้า

 

 

5. การทบทวนนโยบาย

 

5.1 ในกรณีที่ฝ่ายจัดการพบว่านโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฉบับนี้ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่างๆ ต่อกฎเกณฑ์ กฎหมาย และ เทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท ผ่านคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อขออนุมัติปรับปรุง

 

5.2 คณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์ จะทบทวนนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฉบับนี้เป็นประจำทุกปีและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าวยังเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผล

 

 

                                                                                                                                     นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ

                                                                                                                                      ประธานกรรมการบริษัท